การให้แสงสว่างบนโต๊ะทำงาน

แสงที่ใช้อยู่ในห้องทำงานหรือในบ้านนั้นก็จะมีการจำแนกประเภทออกเป็น 2 ระบบ นั่นก็คือ ระบบการให้แสงหลัก และ ระบบการให้แสงรอง

ระบบการให้แสงหลักนั้นก็คือ การออกแบบระบบการให้แสงสว่างนั้นมีความสว่างเพียงพอเป็นไปตามมาตรฐานสำหรับการใช้งานในพื้นที่นั้น ๆ โดยจะแยกออกเป็นระบบย่อยดังนี้

แสงสว่างโดยทั่วไป (General Lighting) : จะเป็นการให้แสงกระจายไปทั่วทั้งบริเวณเท่า ๆ กัน ทั่วทั้งห้อง แสงแบบนี้จะไม่เน้นความสวยงาม เช่นการติดตั้งหลอดฟลูออเรสเซ้นส์ไว้ใต้เพดาน
แสงสว่างเฉพาะที่ (Localized Lighting) : การให้แสงแบบนี้จะให้สำหรับเฉพาะในส่วนของพื้นที่ทำงานเท่านั้น แต่จะเป็นแสงที่ไม่สม่ำเสมอ เช่น การใช้โคมไฟตั้งโต๊ะ
แสงสว่างเฉพาะที่และทั่วไป (Local Lighting + General Lighting) : จะใช้ในกรณีที่ต้องการแสงสว่างที่มากพอสมควร ซึ่งก็จะเป็นการนำสองแบบแรกมาใช้งานร่วมกัน

ระบบการให้แสงรอง จะเป็นการออกแบบการให้แสงเพื่อเกิดความสวยงาม หรือเน้นให้เกิดความน่าสนใจเป็นพิเศษ ดูแล้วสบายตาและได้อารมณ์ ซึ่งก็จะแยกออกเป็นระบบได้ดังนี้

แสงสว่างแบบส่องเน้น (Accent Lighting) : จะเป็นการให้แสงแบบส่องเน้นเข้าไปที่วัตถุใดวัตถุหนึ่งเพื่อดึงดูดความสนใจ เช่นแสงสปอต
แสงสว่างแบบเอฟเฟค (Effect Lighting) : จะเป็นการให้แสงเพื่อสร้างบรรยากาศให้เกิดความน่าสนใจ แต่จะไม่เน้นส่องไปที่วัตถุ
แสงสว่างตกแต่ง (Decorative Lighting) : การให้แสงแบบนี้จะมาจากโคมหรือใช้หลอดไฟที่มีความสวยงาม เพื่อสร้างจุดสนใจ
แสงสว่างงานสถาปัตยกรรม (Architectural Lighting) : เป็นการให้แสงเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์กับงานทางด้านสถาปัตยกรรม เช่นการให้แสงเพื่อให้เกิดมีลักษณะของเงาให้ดูมีมิติ
แสงสว่างตามอารมณ์ (Mood Lighting) : จะใช้สวิตช์หรืออุปกรณ์หรี่ไฟเพื่อใช้สร้างบรรยากาศของแสงให้ได้ระดับที่ต้องการสำหรับการใช้งาน

การให้แสงสว่างบนโต๊ะทำงาน

ในห้องทำงานนั้นควรจะมีการให้ทั้งแสงหลักและแสงรองอย่างสัมพันธ์กัน ให้แสงที่เป็นแสงหลักเพื่อให้เกิดความสว่างทั่วทั้งบริเวณภายในห้องทำงาน และใช้แสงรองเฉพาะบริเวณพื้นที่ทำงานโดยให้เกิดความสบายตาให้ได้มากที่สุดและจะต้องเป็นแสงที่สม่ำเสมอกันตลอดการใช้งาน จะช่วยถนอมสายตา ลดการเมื่อยล้าจากการเพ่งเป็นเวลานานๆ ลดอาการปวดกล้ามเนื้อตาและอาการปวดศีรษะ